วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สวัสดีครับ...พบกับกระผม นายโศภิต  วงศ์คูณ หลังจากห่างจางหายไปนานพอสมควร เนื่องด้วยปัจจัยเล็กๆน้อยๆและหลากหลาย (ปานวิธีเรียนรู้ก็ไม่ปาน) มารวมกันจึงทำให้เป็นปัจจัยที่มากมายหลายกิโลโขอยู่เหมือนกัน หากมีผู้รอติดตามผมกราบขออภัยนะครับ วันนี้ไปเที่ยวน้ำตกดีกว่า .....แอ่น...แอน...แอ๊น.....
         
         ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน แหล่งท่องเที่ยวที่น่าไปที่สุดน่าจะเป็นน้ำตกนะครับ หลังจากเที่ยวชมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่อุบลกันแล้ว ผมจะพาไปเที่ยวน้ำตกของจังหวัดอุบลกัน ที่น่าไปช่วงนี้ก็คือ น้ำตกทุ่งนาเมือง น้ำตกแสงจันทร์ แถมด้วยเถาวัลย์ยักษ์ สำหรับภาพวาดท่านสามารถนำเอาไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแต่จะสร้างสรรค์บรรยายสุดแต่ท่านจะจินตนาการเถิด  ชมภาพครับ


             พบกันใหม่...คราวหน้าครับ...สวัสดี...

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี 1 ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี

    สวัสดีครับ...ผมครูโศภิต วงศ์คูณ ขอรายงานตัว หลังจากห่างหายไปพักใหญ่
        ผมได้มีโอกาสวาดภาพการ์ตูนเรื่องสั้นเป็นตอนๆ ประมาณ 10 ตอน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีให้กับคุณปู ชมพูนุช ดำเนินเรื่องโดย Jan และ Tom เพื่อนชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวจังหวัด
       ภาพดังกล่าวจะมีให้ชมเฉพาะลายเส้นปากกานะครับ ส่วนเนื้อหา สนทนาต้องติดตามในลักษณะรูปเล่มจากคุณปู และวันนี้ต้องขออนุญาตคุณปูนะครับที่ลงรูปเผยแพร่ผลงาน
       จำได้ว่าตอนนี้เป็นตอนแรก คุณ Jan ไปรับ Tom ที่สนามบินนานาชาติจังหวัดอุบลราชธานี




          หลังจากทักทาย Jan ก็แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก คือทุ่งศรีเมือง สวนสาธารณะของคนอุบล ซึ่งมีเทียนพรรษาขนาดใหญ่ สวยงามวิจิตรตระการตายิ่งนัก รายล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เหมาะที่จะมาพักผ่อนและออกกำลังกายในตอนเช้าและเย็น




      
          หลังจากชมขบวนแห่เทียนพรรษาแล้ว ยังมีเวลาที่จะแวะชมพิพิธภัณฑสถานแ่ห่ชาติอุบลราชธานี ซึ่งภายในแสดงเนื้อหาทั้งด้านภูมิ ประวัติ ภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณีของจังหวัดอุบลราชธานี
          คราวหน้า Jan และ Tom จะไปเที่ยวไหนกัน โปรดติดตาม...สวัสดีครับ....
  

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ภาพการ์ตูนฝาผนัง...ขอรับ

คุณครับ....ผมไหว้
         วันนี้ขอยืมสำนวนนักเขียนมาใช้ทักทายท่านนะครับ...(ไม่ได้กวน)
         วันนี้ผมมีการ์ตูนที่ผมวาดใส่ผนังห้องเรียนในอาคารปฐมวัยมานำเสนอครับ...ภายใต้ Concept ของท่าน ผอ. ดร.เรวัต สิงห์เรือง ที่ว่า "ศิลปะ ดนตรี กีฬา มุ่งสู่อัจฉริยะ"
         และภาพนี้ผมมีน้องเขียว (ศุภษา) เป็นผู้ช่วย  ช่วยวาด ช่วยระบายสี ช่วยตัดเส้น ช่วยล้างแปรงและบางวันก็ช่วยไม่มารบกวน (ฮิ..ฮิ...)
         กว่าจะเสร็จภาพนี้ก็ใช้เวลาประมาณ ๑ สัปดาห์
         เชิญทุกท่านทัศนาด้วยความอิ่มเอมและจรรโลงในดวงหทัย  พลัน














           อัศจรรย์ จริงๆ ครับ สำหรับศิลปะ  ดนตรี  กีฬีา มุ่งสู่อัจฉริยะ เพราะใครก็ตามจะอัจฉริยะขนาดไหน อย่างไร เขาจะขาดเสียมิได้เลย ซึ่งศิลปะ (ความงามของอัจฉริยะ) ....คุณครับ....ผมไหว้....




      

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวก การลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

การพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวกการลบ 
      ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
The Development of Packages in Mathematics Problem Solving on Addition and Subtraction Prathom Suksa II Level
นายโศภิต   วงศ์คูณ  (Mr. Sophit  Wongkoon)*

บทคัดย่อ
                      การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75  และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนกับก่อนเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 35 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย ดำเนินการใช้แผนการทดลองแบบ One - Group Pre-test post-test Design เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ จำนวน 12 ชุด และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ .45-.71 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .25-.75 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .85 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่า ผลการวิจัยพบว่า  1. ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.43/78.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ที่ตั้งไว้ 2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอน  โดยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ABSTRACT
                      The purposes of this research were to develop packages in mathematics problem solving on addition and subtraction Prathom Suksa 2 level based on the determined criteria of 75/75, and to compare the pupils’ achievement before and after using the packages.  The sample used in this study consisted of 35 Prathom Suksa 2 pupils studying at Tedsaban 2 School, Phibunmangsahan Municipality, Ubon Ratchathani Province. A one group, pretest posttest design was used for the study. The research tools were the packages and the achievement test constructed by the researcher. The test difficulty indices ranged from .46 to .71, the discrimination indices ranged from .25 to .75, and the reliability value was .85. The collected data were analyzed by percentage, mean, standard deviation, and t – test.  The research findings were as follows: 1.  The packages were efficient since the criteria were found at 77.43/78.00 which were above the determined criteria of 75/75. 2. It was found that the pupils’ achievement after using the packages was statistically higher than that before using them at  .01 level of significance.


บทนำ

                 จากรายงานการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา สังกัดเทศบาลกลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 10 ปีการศึกษา 2549 พบว่า ผลการประเมินความสามารถทางการเรียนทุกระดับชั้น กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์อยู่ลำดับสุดท้าย มีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ คิดเป็นร้อยละ 57.51 ดังนั้นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลกลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 10 จึงควรได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้ครู นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ (กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 10  2549 : 69)
                 ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้าใจกระบวนการของการแก้โจทย์ปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะทางคณิตศาสตร์หลายอย่างเข้าด้วยกัน โดยมีนวัตกรรมมาเป็นตัวกลางในการจัดการเรียนการสอน การนำสื่อประเภทแบบฝึกทักษะที่มีประสิทธิภาพและแตกต่างจากแบบฝึกหัดในบทเรียนมาใช้จะทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสนุกสนานและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยของ วิหาร พละพร (2545 : บทคัดย่อ) เรื่องการพัฒนาชุดฝึกเสริมทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณและการหาร หลังจากใช้ชุดฝึกเสริมทักษะแล้วผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณและการหารสูงกว่าก่อนใช้ชุดฝึกเสริมทักษะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และสอดคล้องกับ สุพินดา       ศรีคะเณย์ (2549 : บทคัดย่อ) ที่ได้ศึกษาค้นคว้าพัฒนาชุดฝึกเสริมทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังจากใช้ชุดฝึกเสริมทักษะแล้วมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณสูงกว่าก่อนใช้ชุดฝึกเสริมทักษะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
                      จากความสำคัญและปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาของนักเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                 1.  เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75
                 2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียนกับก่อนเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ
วิธีดำเนินการวิจัย

                 ประชากร
                 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน  142  คน ประกอบด้วย 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1  (บ้านโพธิ์กลาง) และโรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร  ซึ่งมีจำนวน 5  ห้องเรียน (เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร  2551: 11)

                 กลุ่มตัวอย่าง
                 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี  จำนวน 1 ห้อง โดยทำการสุ่มอย่างง่ายด้วยวิธีจับสลากได้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร จำนวนนักเรียน  35 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

                 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่
                      1. ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวก การลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 ชุด
                     2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก การลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 40 ข้อ

การเก็บรวบรวมข้อมูล

                 ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการทดลองสอนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกการลบ ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองด้วยตนเองตามขั้นตอน ดังนี้
                      1. นำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องโจทย์ปัญหาการบวก การลบ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งผ่านกระบวนการหาคุณภาพแล้ว ไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง ก่อนทำการสอนด้วยชุดฝึกทักษะ 1 วัน ตรวจให้คะแนนแล้วเก็บข้อมูล
                          2. ก่อนดำเนินการทดลองได้แนะนำนักเรียนทราบจุดประสงค์ในการวิจัย วิธีการเรียนว่า ต้องเรียนเนื้อหาให้เข้าใจก่อน แล้วให้นักเรียนทำชุดฝึกทักษะเป็นรายบุคคล ซึ่งมีคะแนนการทำแบบฝึกหัดชุดละ 20 คะแนน
                         3. ดำเนินการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ โดยสอนจำนวน 12 ครั้งๆละ 1 ชั่วโมง รวม 12 ชั่วโมง ตรวจให้คะแนนบันทึกผลไว้แล้วแจ้งผลให้นักเรียนทราบ
                       4. ชุดฝึกทักษะมี 12 ชุด รวมทั้งการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แบ่งเป็นชุดที่ 1 โจทย์ปัญหาการบวกที่มีผลบวกไม่เกิน 10 ชุดที่ 2 โจทย์ปัญหาการลบที่มีตัวตั้งไม่เกิน 10 ชุดที่ 3 โจทย์ปัญหาการบวกที่มีผลบวกไม่เกิน 100 (ไม่มีทด) ชุดที่ 4 โจทย์ปัญหาการลบที่มีตัวตั้งไม่เกิน 100 (ไม่มีกระจาย) ชุดที่ 5 โจทย์ปัญหาการบวกที่มีผลบวกไม่เกิน 100 (มีทด) ชุดที่ 6 โจทย์ปัญหาการลบที่มีตัวตั้งไม่เกิน 100 (มีกระจาย) ชุดที่ 7 โจทย์ปัญหาการบวกที่มีผลบวกไม่เกิน 1,000 (มีทด) ชุดที่ 8 โจทย์ปัญหาการลบที่มีตัวตั้งไม่เกิน 1,000 (มีกระจาย) ชุดที่ 9 โจทย์ปัญหาการบวกระคน ชุดที่ 10 โจทย์ปัญหาการลบระคน ชุดที่ 11 โจทย์ปัญหาการบวก การลบระคน และชุดที่ 12 การสร้างโจทย์ปัญหาการบวกการลบ
               5.  หลังจากการทดลองสิ้นสุด ผู้วิจัยนำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก การลบ ชุดเดิมไปทำการทดสอบอีกครั้งแล้วตรวจให้คะแนน
                     6. นำคะแนนจากการทำแบบฝึกหัดในชุดฝึกทักษะทุกชุดและคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากแบบทดสอบทั้งก่อนเรียนและหลังเรียน มาวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมติฐาน

การวิเคราะห์ข้อมูล

                     1. หาประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะ โดยนำคะแนนที่นักเรียนทำได้จากการทำแบบฝึกหัดในชุดฝึกทักษะทุกชุดมารวมกัน แล้วหาค่าเฉลี่ยร้อยละเทียบกับคะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังเรียนของนักเรียนทุกคนรวมกัน แล้วหาค่าเฉลี่ยร้อยละ ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพ 75/75
                     2. เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะของนักเรียน  กลุ่มตัวอย่าง          โดยใช้สถิติ t-test แบบ Dependent

สรุปผลการวิจัย

                 1. ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ชั้นประถมศึกษา  ปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.43/78.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ที่ตั้งไว้
                 2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน          ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอน  โดยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

อภิปรายผลการวิจัย

                 1. ผลการทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่าชุดฝึกทักษะที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.43/78.00  หมายความว่ากระบวนการฝึกของชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ทำให้ผู้เรียนทุกคนเกิดทักษะการแก้โจทย์ปัญหา เฉลี่ยร้อยละ 77.43 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยและเมื่อเสร็จสิ้นการทดลองมีค่าเฉลี่ยเฉลี่ยร้อยละ 78.00  แสดงว่าชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 การที่ผลการทดลองเป็นไปตามสมมติฐาน เนื่องจากว่า 1) ผู้วิจัยได้ศึกษาหลักการสร้างชุดฝึกทักษะได้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการ ดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอนการสร้างและการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นที่น่าสนใจและจูงใจด้วยการเริ่มจากข้อที่ง่ายไปหายาก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจในการทำแบบฝึกหัด การที่ผู้วิจัยสร้างชุดฝึกทักษะได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการฝึก มีเวลาเตรียมการไว้ล่วงหน้าตลอดจนชุดฝึกดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบหาประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญเมื่อผลิตสื่อการสอนแล้วต้องนำสื่อนั้นไปหาประสิทธิภาพ (ชัยยงค์  พรหมวงศ์ 2532 : 494)  2) ผู้วิจัยได้นำทฤษฎีการสอนคณิตศาสตร์มาใช้ในการดำเนินการสร้างชุดฝึกทักษะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เช่นการสอนด้วยการค้นพบ ทำให้นักเรียนเข้าใจและจำได้นาน สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก โดยครูทำหน้าที่จัดสถานการณ์ที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ (จิราภรณ์  ศิริทวี 2542 : 57)  3) ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเน้นให้ผู้เรียนรู้จักสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคม โดยเฉพาะนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 6-12 ปี เป็นระยะที่เริ่มเข้าใจการจัดหมวดหมู่ การจำแนก การเรียงลำดับจำนวน มิติและความสัมพันธ์ มีเหตุมีผล สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ Paget  กล่าวคือได้มีการนำเสนอเนื้อหาเป็นลำดับขั้นตอนจากง่ายไปหายากเน้นโครงสร้างเนื้อหาวิชาการและกระบวนการของการแก้ปัญหามากกว่า จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะและทรงจำระยะยาวนาน  4) ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีการพัฒนาโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์เพื่อให้เกิดการพัฒนากับการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่เด่นชัด ซึ่งสอดคล้องกับ วิชัย  พาณิชย์สวย (2546 : 94-113) กล่าวคือ ต้องเป็นปัญหาที่น่าสนใจ ต้องเป็นปัญหาที่ท้าทาย ต้องเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตจริงและต้องเป็นปัญหาที่ส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้
                     จากผลการวิจัยดังกล่าวทำให้พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีความก้าวหน้าขึ้น เป็นผลมาจาการพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ที่มีประสิทธิภาพ
                 2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการทดลอง ผลปรากฏว่าหลังเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยมีคะแนนเฉลี่ย 31.23  จากผลการทดลองนี้เป็นเพราะว่า ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพที่ดี ผ่านขั้นตอนการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ จัดลำดับขั้นของเนื้อหาที่เรียนจากเนื้อหาง่ายไปสู่เนื้อหายาก ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการฝึกทักษะ แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้เรียนได้เรียนโดยการใช้ชุดฝึกทักษะที่มีประสิทธิภาพนี้จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สอดคล้องกับงานวิจัยของ รัชฎาภรณ์  พรมลา (2541 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างแบบฝึกทักษะเพื่อสอนซ่อมเสริมทักษะการคิดคำนวณเรื่อง                 การคูณการหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผลการศึกษาพบว่า ทักษะการคิดคำนวณหลังการได้รับการสอนซ่อมเสริมของนักเรียนสูงกว่าก่อนได้รับการฝึกจากแบบฝึกเสริมทักษะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  สอดคล้องกับงานวิจัยของ วิไลวรรณ พุกทอง (2542 : บทคัดย่อ) ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการคูณ การหาร จำนวน           ที่มีตัวตั้งสองหลัก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  สอดคล้องกับ วิหาร  พละพร (2545 : บทคัดย่อ) ที่ได้ศึกษาชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการคูณการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่เรียนโดยชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนใช้ชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณการหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  สอดคล้องกับ อาจารีย์  สฤษดิ์ไพศาล (2547 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบและพัฒนาแบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่องการบวก การลบ ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวก การลบ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยแบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และสอดคล้องกับ สุคนธ์ ยั่งยืน (2549 : บทคัดย่อ) ที่ได้ศึกษาการพัฒนาชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่องเศษส่วน ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่องเศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียน             โดยชุดฝึกทักษะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
                 จากผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ ให้มีประสิทธิภาพนั้น จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นได้จริง


                 จากผลการวิจัยพบว่า ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวก การลบ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  77.43/78.00  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์   75/75 ที่ตั้งไว้ และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 ซึ่งผู้วิจัยขอเสนอแนะ ดังนี้

                 ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
                     1. การนำชุดฝึกไปใช้ ครูผู้สอนต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจว่า นักเรียนต้องฝึกทักษะจากชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวก การลบ เรียงลำดับตั้งแต่ชุดที่ 1 ถึงชุดที่ 12 โดยไม่ข้ามขั้นตอนซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะได้อย่างครบถ้วนและมีทักษะในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์มากขึ้น
                     2. หากพบว่ามีนักเรียนทำชุดฝึกทักษะได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์หลังการตรวจผลงานในแต่ละชุด ครูควรอธิบายเพิ่มเติมให้คำแนะนำเพื่อเป็นกำลังใจในการฝึกทักษะในชุดต่อๆไป

                 ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
                 การศึกษาค้นคว้าในโอกาสต่อไปควรจะได้มีการศึกษาและวิจัยในเรื่องต่างๆ ดังนี้
                     1. ควรมีการพัฒนาชุดฝึกทักษะในเนื้อหาที่ยากขึ้น เช่น การพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการคูณ การหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
                     2. ควรมีการพัฒนาชุดฝึกทักษะในรูปแบบอื่น เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างสรรค์ชุดฝึกทักษะให้มีสีสันที่สวยงามน่าสนใจ มีเทคนิคการนำเสนอที่แปลกใหม่ กระตุ้นให้นักเรียนฝึกทักษะได้โดยไม่เบื่อ

กิตติกรรมประกาศ

                 วิทยานิพนธ์นี้สำเร็จได้ด้วยความอนุเคราะห์ของบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ซึ่งไม่อาจนำมากล่าวได้ทั้งหมด ผู้มีพระคุณที่ผู้วิจัยใคร่ขอกราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กชกร  ธิปัตดี ประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ที่ได้กรุณาให้ความช่วยเหลือเอาใจใส่ตรวจแก้วิทยานิพนธ์เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุดและให้กำลังใจแก่ผู้วิจัยตลอดมา ท่านที่สองคือ อาจารย์จันทนา  ลิ้มสุวรรณ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์อีกท่านหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือในการตรวจแก้ไข ให้คำแนะนำข้อบกพร่อง ข้อคิดที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงจนสมบูรณ์ที่สุด
                      นอกจากนี้ผู้วิจัยใคร่ขอขอบพระคุณ นางสำรวย  รัตนบรรดาล  ครูโรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1   นางหนูอาจ  ขิงรัมย์ ครูโรงเรียนนาจะหลวย (กรป.กลางอุปถัมภ์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 5  นางเกษมศรี  บุญพอ  ครูโรงเรียนเขมราฐวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 2  นางสาวณัฐฐิรา  บุญฒิไพโรจน์  ครูโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) สำนักงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และนายอุเทน  พุ่มจันทร์  ครูโรงเรียนเยาวเรศศึกษา  อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี  ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับช่วยเหลือในการปรับปรุงเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้
                      ขอขอบพระคุณผู้บริหาร คณะครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร ที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลในการทำวิจัยในครั้งนี้     
                 ขอขอบพระคุณคุณพ่อ คุณแม่ ผู้เพียรให้กำลังใจส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาแก่ผู้วิจัย มาโดยตลอด อีกทั้งครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่ช่วยเหลือสนับสนุนในด้านอื่นๆ เกิดเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 10.  รายงานการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา สังกัดเทศบาลกลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 10 ปีการศึกษา 2549.   อุบลราชธานี : กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 10, 2549.
จิราภรณ์  ศิริทวีและคนอื่นๆ.  คู่มือการจัดกิจกรรมคณิตศาสตร์ให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้.  กรุงเทพฯ : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542.
ชัยยงค์  พรหมวงศ์ และคนอื่นๆ.  เอกสารประกอบการสอนชุดวิชาสื่อการสอนระดับประถมศึกษา.  พิมพ์ครั้งที่ 8.นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532.
รัชฎาภรณ์  พรมลา.  การสร้างแบบฝึกเสริมทักษะเพื่อสอนซ่อมเสริมการคิดคำนวณ เรื่องการคูณการหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4.  วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2541.
วิชัย  พาณิชย์สวย.  สอนอย่างไรให้เด็กเก่งโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์.  กรุงเทพฯ : พัฒนาคุณภาพวิชาการ, 2546.
วิไลวรรณ  พุกทอง.  การพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณการหาร จำนวนที่มีตัวตั้งสองหลัก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2.  การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2542.
วิหาญ  พละพร.  การพัฒนาชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาการคูณ การหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4.  วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี, 2545.
สุคนธ์  ยั่งยืน.  การพัฒนาชุดฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5.  วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 2549.
อาจารีย์  สฤษดิ์ไพศาล.  การพัฒนาแบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3.  วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี, 2547.


ครุศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
   ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กชกร  ธิปัตดี  และอาจารย์จันทนา ลิ้มสุวรรณ
                                                -------------------------