หลังจากที่ผลงานทางวิชาการที่ใช้ขอวิทยฐานะเชี่ยวชาญผ่านการประเมินจากท่านคณะกรรมการแล้ว ผมเองก็อยากจะนำเสนอเพื่อเผยแพร่และเป็นตัวอย่างหรือเป็นแนวทางให้เพื่อนครูที่จะพัฒนาวิทยฐานะตนเอง เพราะการศึกษาจากตัวอย่างเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีอีกวิธีหนึ่งครับ
ผมเองเข้าบรรจุเป็นครูด้วยวุฒิ ปวช. ศิลปหัตถกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ สอนวาดเขียนให้นักเรียนอยู่ ๔-๕ ปี ก็ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานที่มีอยู่และหมั่นศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม ทั้งทฤษฎีการสอน ทฤษฎีคณิตศาสตร์ ตลอดจนความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ต่อมาไม่นานก็เข้าพัฒนาตนเองจนจบปริญญาตรีบริหารการศึกษา และปริญญาโทสาขาการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน จากวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ดังนั้นผลงานทางวิชาการที่ขอเลื่อนวิทยฐานะจึงเป็นวิชาคณิตศาสตร์มาโดยตลอด หาเป็นวิชาศิลปะที่ตนชอบไม่ แต่ผมก็พัฒนาตนเองทั้งงานที่รับผิดชอบในหน้าที่และงานศิลปะที่รัก จึงทำให้ท่านพบเห็นผลงานในบล็อกของผมมีงานศิลปะเป็นส่วนมาก
แต่วันนี้ผมขอนำเสนอ บทคัดย่อผลงานดังกล่าว เผื่่อผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้และพัฒนาต่อไปครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------------
รายงานการวิจัย การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
เรื่องการบวกและการลบ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามแนวคิด
คอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้
ผู้วิจัย นายโศภิต วงศ์คูณ
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียน เทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร
สังกัด เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กระทรวงมหาดไทย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
(1) เพื่อ(1) ศึกษาสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร (2) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
เรื่องการบวกและการลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้และ(3)เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์เรื่องการบวการลบ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย
เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร
สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่
แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกและการลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่
2 ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้
จำนวน 16 แผน (2)
เครื่องมือที่ใช้สะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตการณ์จัดการเรียนการสอน
แบบบันทึกผลการใช้แผนการสอน แบบบันทึกการสัมภาษณ์นักเรียน แบบบันทึกประจำวันของครู
แบบบันทึกทักษะประจำบทเรียน แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร (3) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
รูปแบบในการวิจัยครั้งนี้ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการ 4 วงจร คือ วงจรปฏิบัติที่ 1
ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1-4 วงจรปฏิบัติที่ 2
ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5-8 วงจรปฏิบัติที่ 3 ประกอบด้วยแผนการสอนที่
9-12 วงจรปฏิบัติที่ 4 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 13-16
โดยใช้รูปแบบการสอนที่สร้างขึ้น ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ทำการบันทึก
สังเกต สัมภาษณ์นักเรียน เมื่อสิ้นสุดในแต่ละวงจรปฏิบัติจะทำการทดสอบย่อยเพื่อประเมินความก้าวหน้า
แล้วจึงสะท้อนผลการปฏิบัติที่ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึก
สังเกต สัมภาษณ์นักเรียนและผลงานนักเรียน
มาวิเคราะห์อภิปรายเพื่อปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนในวงจรต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ผลการวิจัยพบว่า
(1) ผลการศึกษาสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียนเทศบาล
2 พิบูลวิทยาคาร สรุปว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญมี 2 ประเด็น คือ ด้านตัวครูผู้สอน
ที่จัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางในการเรียน ครูขาดการเตรียมการสอน
ยึดแบบเรียนมาตรฐานเป็นหลัก ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดโดยไม่เข้าใจ
ขาดเทคนิคการสอนและวิธีการสอน
ทำให้การนำเสนอไม่หลากหลายและในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
เน้นให้นักเรียนทำตามมากกว่าให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในมโนมติและกระบวนการแก้ปัญหาด้วยตัวนักเรียนเอง
และด้านตัวนักเรียน
นักเรียนส่วนใหญ่ยังขาดแนวทางในการคิดแก้ปัญหาที่หลากหลายเนื่องจากจำเพียงวิธีการเดียวที่ครูสอนในการหาคำตอบเท่านั้น
นักเรียนที่อ่อนไม่สนใจและไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อน
นักเรียนไม่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม
ทำให้นักเรียนขาดทักษะการทำงานร่วมกัน และไม่ได้ช่วยเหลือกันในการเรียนรู้
(2)
การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนการบวกและการลบ ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้
พบว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตัวนักเรียนเอง
สามารถนำประสบการณ์ในชีวิตประจำวันมาสัมพันธ์กับคณิตศาสตร์
รวมถึงการช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการใช้กระบวนการคิดของตนเองแก้ปัญหา
ซึ่งรูปแบบการสอนการบวกและการลบตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้
ประกอบด้วย 5 ขั้น คือ 1) ขั้นนำ
เป็นการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้และทบทวนความรู้เดิม 2) ขั้นสอน ประกอบด้วย (1) การเผชิญสถานการณ์ (2)
การสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง (3) การตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ (4) การเสนอความรู้ความเข้าใจต่อกลุ่มใหญ่ 3) ขั้นสรุป
เป็นการสรุปมโนมติความรู้และหลักการต่างๆ ที่ได้เรียนในแต่ละชั่วโมง 4) ขั้นศึกษากลุ่มย่อย เป็นการพัฒนาทักษะโดยนักเรียนจะเข้ากลุ่มย่อย
ศึกษาบัตรเนื้อหาทำกิจกรรมจากบัตรกิจกรรมซึ่งเป็นสื่อกลางเพื่อช่วยเหลือกันในการเรียนรู้
และตรวจสอบคำตอบจากบัตรเฉลย 5)
ขั้นพัฒนาการนำไปใช้เป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้แกปัญหาในสถานการณ์ใหม่
โดยการทำแบบฝึกทักษะประจำบทเรียน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ด้วยความปรารถนาดีครับ สวัสดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น